วันพฤหัสบดีที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2557

เทคนิคการเตรียมอาหารเลี้ยงเชื้อและการทำให้ปราศจากเชื้อ

เทคนิคการเตรียมอาหารเลี้ยงเชื้อและการทำให้ปราศจากเชื้อ
Culture  medium  and  sterilization Technique) 

วิรุธน์  บัวงาม
               นักวิทยาศาสตร์  วิทยาลัยแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือ
มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี

บทนำ
   อาหารเลี้ยงเชื้อ (culture  medium) คือ ส่วนประกอบของสารอาหารที่เอื้ออำนวยให้จุลินทรีย์เจริญและแบ่งเซลล์เพิ่มจำนวน  ซึ่งอาหารเลี้ยงเชื้อโดยทั่วไปควรมีคุณสมบัติดังนี้
          1. มีธาตุอาหารและความเข้มข้นที่เหมาะสมกับการเจริญของจุลินทรีย์
          2. มีความเป็นกรดและด่าง ( พีเอช ) เหมาะสมกับการเจริญ
          3. ปราศจากสารพิษที่มีผลต่อการเจริญ
          4. ปราศจากสิ่งมีชีวิตชนิดใด ๆ ในอาหารเลี้ยงเชื้อนั้น
            จุลินทรีย์แต่ละชนิดมีความต้องการธาตุอาหารตลอดจนพีเอชที่แตกต่างกัน ดังนั้นการเลือกใช้อาหารเลี้ยงเชื้อ  จึงต่างกันไปตามความต้องการของจุลินทรีย์และวัตถุประสงค์ของการใช้อาหารเลี้ยงเชื้อที่ใช้ในงานทางจุลชีววิทยามีหลายลักษณะ  เช่น  อาหารเหลว (broth ) อาหารแข็ง (solid medium) โดยการเติมวุ้น 1.5  2.0 ถ้าอาหารแข็งบรรจุในหลอดทดสอบและทำให้แข็งในลักษณะที่เอียงเป็นแนวลาด เรียก slant agar  แต่ถ้าแข็งในลักษณะหลอดทอสอบตั้งตรง เรียก deep  tube  agar แต่ถ้าบรรจุในจานเพาะเชื้อ (Petri dish) รียก  plate  agar นอกจากนี้ยังมีอาหารลักษณะกึ่งแข็ง(semi – solid) ที่เติมวุ้นเพียง 0.3  0.5 เพื่อใช้ในการทดสอบการเคลื่อนที่ของแบคทีเรีย

อาหารเลี้ยงเชื้อสามารถจำแนกได้เป็น  2  ประเภท
            1.อาหารเลี้ยงเชื้อที่จำแนกตามองค์ประกอบของอาหาร
                   1.1 Complete medium หรือ Non – synthetic medium เป็นอาหารเลี้ยงเชื้อที่ไม่ทราบส่วนประกอบทางเคมีที่แน่นอนทั้งชนิดและปริมาณ  อาหารเลี้ยงเชื้อนี้จะมีสารอินทรีย์มากมายที่ได้จากสารสกัดจากเนื้อเยื่อพืช หรือ สัตว์  เช่น peptone  yeast extract beef  extract หรือ malt extract  เป็นต้น  อาหารเลี้ยงเชื้อชนิดนี้จึงช่วยในการเจริญของจุลินทรีย์ได้หลายชนิด อาหารเลี้ยงเชื้อที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ได้แก่ nutrient broth (NB) nutrient agar (NApotato  dextrose agar (PDA) หรือ trypticase soy broth เป็นต้น
                   1.2 Chemically defined medium หรือ Synthetic medium เป็นอาหารสังเคราะห์ที่ทราบองค์ประกอบทางเคมีที่แน่นอน ดังนั้นในการเตรียมอาหารเลี้ยงเชื้อชนิดนี้แต่ละครั้ง จะได้อาหารที่มีองค์ประกอบเหมือนกันทุกครั้ง  เช่น minimal medium ที่ประกอบด้วย กลูโคส 2.0 กรัม ( NH4)2SO4 1.0 กรัม  K2HPO4  0.7  กรัม  MgSO4 0.5 กรัม  agar  15.0 กรัม และน้ำกลั่น  1000  มิลลิลิตร
            2. อาหารเลี้ยงเชื้อที่จำแนกตามลักษณะการใช้งาน
                   2.1 Enriched   medium   เป็นอาหารลี้ยงเชื้อที่ใช้เพื่อเพิ่มปริมาณเซลล์จุลินทรีย์ที่ต้องการ   ซึ่งมีปริมาณเซลล์อยู่น้อยในตัวอย่างธรรมชาติให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในอาหาร โดยการเติมสารอาหารที่เอื้อต่อการเจริญของจุลินทรีย์ชนิดนั้น ๆ   เป็นพิเศษ  ซึ่งจะทำให้การแยกเชื้อชนอดที่ต้องการได้ง่ายขึ้น  ส่วนใหญ่นิยมใช้ในรูปของอาหารเหลว
                   2.2 Selective  medium  เป็นอาหารเลี้ยงเชื้อที่ใช้เพื่อการคัดเลือกจุลินทรีย์ชนิดที่ต้องการให้เจริญได้เท่านั้น   โดยการเติมสารอาหารที่จุลินทรีย์ต้องการ  สามารถใช้ได้ดี  ในขณะที่จุลินทรีย์อื่นไม่สามารถใช้ได้   หรือการเติมสารยับยั้งการเจริญของจุลินทรีย์ชนิดอื่น ๆ อาหารกลุ่มนี้โดยส่วนใหญ่นิยมใช้ในรูปของอาหารแข็ง
                   2.3  Differential  medium  เป็นอาหารเลี้ยงเชื้อที่ใช้แยกชนิดของจุลินทรีย์  โดยอาศัยลักษณะที่แตกต่างกันของจุลินทรีย์ เมื่อเจริญบนอาหารที่มีอินดิเคเตอร์ (indicator) เช่น การใช้อาหารวุ้นที่เติมเลือด (blood agar medium) ในการแยกแบคทีเรียที่มีความสามารถในการย่อยสลายเม็ดเลือดแดง (haemolysis) แบคทีเรียที่ย่อยสลายเม็ดเลือดแดงได้จะเกิดบริเวณใส  (clear zone) รอบโคโลนี
            อาหารเลี้ยงเชื้อบางชนิดจัดอยู่ในกลุ่ม selective / differential  medium เช่นMacConkey  agar  ที่มีการเติมเกลือน้ำดี (bile salt) เป็นตัวคัดเลือก (selective agent) โดยเกลือน้ำดีมีผลยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียแกรมบวก (Gram – positive  bacteria) แต่ไม่ยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียแกรมลบ (Gram - negative  bacteria) เช่นEscherichia coliEmerobacier sp.,Salmonellasp. และ Proteus sp. อีกทั้งมีน้ำตาลกาแลกโตส และ neutral red ในอาหารเป็นอินดิเคเตอร์บอกความแตกต่าง  differential agent) ของจุลินทรีย์แกรมลบที่คัดเลือกได้  ซึ่งแบคทีเรียที่สามารถใช้น้ำตาลกาแลกโตสได้โคโลนีจะเป็นสีแดง เช่น  E.coli  ในขณะที่ Salmonella  sp. ซึ่งขาดความสามารถใช้น้ำตาลกาแลกโตสโคโลนีจะเป็นสีขาว

การกำจัดเชื้อ ( Sterilization )
            วิธีการทำให้อาหารเลี้ยงปราศจากสิ่งมีชีวิตใด ๆ สามารถทำได้โดย
                   1.การใช้ความร้อนชื้น ( moist  heat ) โดยใช้หม้อนึ่งความดันไอ (autoclave ) ในการกำจัดเชื้อในอาหารเลี้ยงเชื้อและภาชนะที่บรรจุ ในห้องปฏิบัติการนิยมใช้ที่อุณหภูมิ 121.5  องศาเซลเซียส  ความดันไอ 15 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว เป็นเวลา 15  30 นาที  ขึ้นอยู่กับปริมาณอาหารเลี้ยงเชื้อ  ซึ่งไอน้ำร้อนจะแทรกซึมเข้าสู่เซลล์และสปอร์ ทำให้โปรตีน (เอนไซม์) ต่าง ๆ ที่อยู่ภายในเซลล์เสียสภาพทางชีววิทยา
                   2.การใช้ความร้อนแห้ง (dry  heat)  โดยใช้ตู้อบ (hot–air oven) กำจัดเชื้อในเครื่องแก้วเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ที่เป็นวัสดุชนิดไม่เสื่อมสภาพได้ง่าย เช่น จานเพาะเชื้อ ปิเปต ขวด  รวมถึงสารเคมีที่เป็นผงบางชนิดที่สามารถทนความร้อนสูงได้ เช่น แป้ง การกำจัดเชื้อโดยวิธีการนี้ทำได้โดยอบที่อุณหภูมิ 180  องศาเซลเซียส  เวลา 1  2 ชั่วโมง วิธีการนี้จะทำให้เกิดการดึงน้ำออกจากเซลล์ (dehydrate) และเกิดการ oxidationของสารต่างๆ ภายใน  protoplasm
                   3.การกรอง ( filtration ) โดยใช้เยื่อกรอง หรือแผ่นกรอง (membrane filtration) ที่ทำจาก cellulose  acetate หรือ plastic  polymer ที่มีความหนาเพียง 0.1 มิลลิเมตร  ขนาดของรูเยื่อกรองตั้งแต่ 0.22  0.45  ไมโครเมตร  ซึ่งมีขนาดรูเล็กกว่าเซลล์จุลินทรีย์ วิธีการนี้นิยมใช้ในการแยกเชื้อจุลินทรีย์ออกจากอาหารเหลว หรือของเหลวที่สลายตัวได้ง่ายเมื่อถูกความร้อน เช่น ยาปฏิชีวนะ  ซีรั่ม สารละลายน้ำตาลบางชนิด การกำจัดเชื้อด้วยวิธีการนี้จุลินทรีย์ถูกแยกออกจากอาหารเหลว โดยเซลล์จุลินทรีย์จะติดอยู่บนเยื่อกรอง อาหารหรือของเหลวที่ผ่านการกรองแล้วจะปราศจากจุลินทรีย์ ดังนั้นจึงต้องเก็บในภาชนะที่ผ่านการกำจัดเชื้อ

การทดลองที่ 1 การเตรียมและการบรรจุอาหารเลี้ยงเชื้อ
วัตถุประสงค์
          1. เพื่อฝึกการเตรียมอาหารเลี้ยงเชื้อ  และกำจัดเชื้อในอาหารเลี้ยงเชื้อนั้นได้อย่างถูกต้อง
          2. สามารถกำจัดเชื้อในเครื่องแก้ว  เครื่องมือ  และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในงานทางจุลชีววิทยาได้อย่างถูกต้อง

อุปกรณ์และสารเคมี
          1.  ส่วนประกอบต่าง ๆ ของอาหาร  nutrient  broth NB)  , nutrient  agar(NA)  และ potato  dextrose  agar  (PDA)
          2. เครื่องชั่ง  กระดาษไขรองชั่ง  wax paper) ช้อนตักสาร ( spatula)
          3. ภาชนะเตรียมอาหาร  แท่งแก้ว  กระดาษวัดพีเอช  เครื่องมือช่วยกรอกอาหาร
          4. ขวดบรรจุอาหารฝาเกลียว
          5. สำลี กระดาษ ยางรัด ผ้าขาวบาง
          6. หม้อนึ่งความดันไอ (autoclave)

วิธีการทดลอง
          ก. การเตรียม  nutrient  broth
                   1. ชั่งส่วนประกอบต่าง ๆ ตามสูตรอาหารดังต่อไปนี้
                                  Beef  extract                      3      กรัม
                                  Peptone                            5      กรัม
                                  น้ำกลั่น                             1000  มิลลิลิตร
                   2. สารละลายส่วนประกอบต่าง ๆ ในน้ำกลั่น  คนด้วยแท่งแก้วให้ส่วนประกอบของอาหารละลาย  โดยใช้ความร้อนช่วย  แล้วปรับปริมาตรให้ครบตามสูตรด้วยน้ำกลั่น
                   3. วัดความเป็นกรดด่างด้วยกระดาษวัดพีเอช  ถ้าอาหารเป็นกรดหรือด่างมากเกินไปให้ปรับด้วยสารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์เข้มข้น 0.1 นอร์มอล  หรือสารละลายกรดไฮโดรคลอริกเข้มข้น 0.1 นอร์มอล   จนได้พีเอชประมาณ 7.0 
                   4. ในกรณีที่อาหารมีตะกอนหรือเศษผงให้กรองผ่านผ้าขาวบาง
         
          ข. การเตรียม  nutrient  agar 
                   1. ใช้ส่วนประกอบเช่นเดียวกับ NB แล้วเติมวุ้น  15 กรัม
                   2. ต้มพร้อมกับคนด้วยแท่งแก้วจนวุ้นละลายหมด ( อุณหภูมิประมาณ  97 100 องศาเซลเซียส)
                   3. ปรับปริมาตรให้ครบตามสูตรด้วยน้ำกลั่นและปรับพีเอชให้ได้ประมาณ7.0

          ค. การเตรียม potato dextrose agar 
                   1. สูตรอาหาร  PDA
                                      มันฝรั่ง                               200     กรัม
                                      เดกซ์โทรส                          20      กรัม
                                      วุ้น                                   15      กรัม
                                      น้ำกลั่น                              1000   มิลลิลิตร
                   2.ปอกเปลือกมันฝรั่ง  หั่นเนื้อมันฝรั่งเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ขนาดด้านละประมาณ 1 เซนติเมตร  ชั่งให้ได้น้ำหนักตามสูตร  แล้วต้มในน้ำกลั่น  500  มิลลิลิตร  จนเดือดนานประมาณ  10-15 นาที   อย่าทำให้เนื้อมันฝรั่งเละ   กรองเอาแต่น้ำโดยใช้ผ้าขาวบาง
                   3. ชั่งน้ำตาลเดกซ์โทรส  และวุ้นให้ได้น้ำหนักตามสูตร   ละลายในน้ำกลั่น 500  มิลลิลิตร  โดยใช้ความร้อนช่วยจนวุ้นละลายหมด
                   4. ผสมส่วนประกอบจากข้อ 2 และ ข้อ 3 เข้าด้วยกัน  ปรับปริมาตรด้วยน้ำกลั่นจนครบตามสูตร

            ง. การบรรจุอาหาร
                   1.บรรจุอาหารที่เตรียมเสร็จแล้วลงในหม้อกรอกอาหาร  กรอกอาหารใส่ขวดและหลอดทดสอบ  โดยบรรจุ 1 ใน 2 ส่วนของขวด  และ 1 ใน 4 ส่วนของขวด ( กรณีที่เป็นอาหารแข็งให้บรรจุในขณะที่อาหารยังร้อน) ระวังอย่าให้อาหารเปื้อนปากขวดหรือปากหลอด
                   2. ปิดขวดด้วยฝาเกลียวให้สนิทแล้วคลายเกลียวออกครึ่งรอบ  ( ภายหลังการนึ่งฆ่าเชื้อแล้วจึงปิดเกลียวให้แน่น) ปิดหลอดอาหารด้วยการอุดด้วยจุกสำลีที่แน่นพอสมควร  โดยนำสำลีที่ปริมาณเหมาะสมกับขนาดของหลอดทดสอบมาปั้นให้แน่นเป็นแท่งลักษณะทรงกระบอก ทดลองอุดและดึงจุกสำลีหลาย ๆ ครั้ง  จุกสำลีที่ดีจะยังคงรูปอยู่เหมือนเดิม ( ฝึกหัดเทคนิคปฏิบัติจากอาจารย์ผู้สอน)
                   3. หลังจากบรรจุอาหารเรียบร้อยแล้ว  แยกหลอดบรรจุอาหาร NB  NAและ PDA เก็บไว้อย่างละ 2  หลอด  รวบรวมขวดและหลอดอาหารใส่ตะกร้า  ปิดหุ้มด้วยกระดาษหนา ๆ เพื่อป้องกันไอน้ำหยดลงมาทำให้สำลีเปียก  นำไปกำจัดเชื้อด้วยหม้อนึ่งความดันไอ
                   4. ทำความสะอาดภาชนะ  และเครื่องมือต่าง ๆ ที่ใช้ในการเตรียมอาหารให้เรียบร้อย

เอกสารอ้างอิง
จริยา หาญวจนวงศ์ และคณะ. คู่มือปฏิบัติการจุลชีววิทยาทางการแพทย์ สำหรับนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 3, ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น : 2536
บัญญัติ  สุขศรีงาม. ชีววิทยาเบื้องต้นของเซลล์ .สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์. กรุงเทพฯ :2526
วันเพ็ญ ภูติจันทร์. คู่มือปฏิบัติการพฤกษศาสตร์.อุบลราชธานี:โปรแกรมวิชาชีววิทยา,คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสถาบันราชภัฏอุบลราชธานี : 2543
อนันต์  ลือขจร. กล้องจุลทรรศน์และเทคนิคการถ่ายภาพทางชีววิทยา. สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์. กรุงเทพฯ :2536

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น